วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัยจริงหรือ?

          เรื่องความปลอดภัยของการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร เป็นสิ่งที่ถูกถามกันมากคำถามหนึ่ง ด้วยความกังวลที่ว่าผักที่ปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์นี้ต้องแช่หรือสัมผัสกับสารละลายธาตุอาหารซึ่งจัดเป็นสารเคมีอย่างหนึ่งอาจดูดเคมีนั้นขึ้นไปสะสม เมื่อผู้บริโภครับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้หรือไม่

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะนำไปเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในดินแบบให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยคอก) แต่ในความเป็นจริงแล้ว พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดกินอาหารผ่านทางรากในรูปของแร่ธาตุที่อยู่ในรูปของอิออน หรือ ประจุ (ion) เท่านั้น ซึ่งมีทั้งธาตุประจุบวก ได้แก่ NH4+, K+, Ca+2, Mg+2 , Fe+2 เป็นต้น และธาตุประจุลบ ได้แก่ NO3-, SO4-2, H2PO4-, BO3-3

          ดังนั้น แม้ว่าเราจะปลูกพืชลงในดินแล้วทำการให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยนั้นจะยังไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจนกว่าจะถูกการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นแร่ธาตุต่างๆที่แตกตัวเป็นอิออนละลายอยู่ในน้ำในดิน หรือจนกว่าปุ๋ยเคมีเม็ด นั้นจะแตกตัวละลายกลายเป็นแร่ธาตุอยู่ในสารละลายดินเช่นกัน รากพืชจึงดูดไปใช้ได้

          สรุปก็คือ ไม่ว่าเราจะปลูกพืชในดินหรือในสารละลาย พืชก็ดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ (ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็นเคมี) เหมือนๆกัน ก่อนที่แร่ธาตุเหล่านั้นจะถูกพืชนำไปใช้สร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เป็นแป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน ต่างๆ ให้มนุษย์นำมารับประทานอีกที ดังนั้น หากเราไม่กังวลที่จะรับประทานผักที่ปลูกจากดินและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เราก็ไม่ควรที่จะกังวลกับการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลาย เช่นกัน

          ส่วนเรื่องการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจนที่มีอยู่มากในสารละลาย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักมีผู้สงสัย ไนเตรทเป็นอนุมูลไนโตเจนที่พืชต้องการและดูดใช้มากในช่วงพัฒนาด้านลำต้น กิ่งใบ หากเราเก็บเกี่ยวพืชที่ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาทางด้านลำต้นอยู่ ไม่ว่าจะปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ หรือปลูกในดิน ก็จะต้องพบว่ามีไนเตรทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากมีไม่เกิน 2500-3000 มก.ต่อ 1 กก น้ำหนักสดของผัก ก็ยังถือว่าปลอดภัยครับ

          เคยมีรายงานว่าพบการสะสมไนเตรทในระดับที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งการปลูกในสารละลาย (วุฒิพงษ์, 2545: ปัญหาพิเศษปริญญาโท มก) และที่ปลูกในดิน (Patcharaporn et al., 2001 : Thai J. Agric. Sci 35(3) )

          ดังนั้นปริมาณการสะสมไนเตรทจึงไม่ได้ขึ้นกับว่าปลูกในอะไร แต่น่าจะขึ้นกับว่าปลูกอย่างไร กรณีปลูกในสารละลาย ปริมาณการสะสมไนเตรทในต้นพืชขึ้นกับความเข้มข้นของอนุมูลไนเตรทที่อยู่ในสารละลายที่ใช้ปลูกพืช และอัตราการใช้อนุมูลไนเตรทของพืชที่นำไปเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนกลูตามินซึ่งต้องใช้โมเลกุลของน้ำตาลที่มาจากการสังเคราะห์แสงร่วมด้วย

          ข้อดีประการหนึ่งของประเทศไทยคือที่มีแสงแดดจัด พืชจึงอัตราการสังเคราะห์แสงจึงค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว และในการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ ในการปลูกที่ดีต้องมีการควบคุมระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมทุกๆวัน ถ้าพืชมีการจริญเติบโตและสังเคราะห์แสงที่เป็นปกติโอกาสที่จะเกิดการสะสมไนเตรทจนถึงระดับที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคจึงไม่น่าเกิดขึ้น และยังสามารถลดไนเตรทก่อนเก็บเกี่ยวได้ง่ายๆ โดยการงดให้ธาตุอาหาร 1 -2 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว ในทางกลับกันการปลูกในดินกลับควบคุมได้ยากกว่า ครับ

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจาย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ
รองประธานชมรมปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย


เข้าสู่ระบบร้านค้า www.fafreshshop.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขาย LDPE พลาสติกปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ พลาสติกทำโรงเรือน พลาสติก PE ขาวขุ่นสำหรับ hydroponic พลาสติกรองก้นบ่อ, พลาสติกกันชื้น, ผ้ายางปูบ่อน้ำ,พลาสติกปูบ่อเลี้ยงปลา, พลาสติกทำน้ำตก, พลาสติกสีดำทำบ่อน้ำ, แผ่นพลาสติกจัดงาน Eventต่างๆ, พลาสติกกันชื้น, พลาสติกกันน้ำเพื่อการเกษตร, สแลน ตาข่ายกรองแสง, พลาสติกล้อมเล้าไก่ ผ้ากระสอบ พลาสติกทำโรงเรือน โรงเห็ด
พลาสติก PVC ใส ตอนกิ่ง, ผ้าฟาง บลูชีท ทั้งแบบหน้าเดียวและซุปเปอร์
ปลีกส่ง ด่วน จำหน่ายผ้ากระสอบ หรือผ้าฟางอย่างดี ในราคาถูก ผ้ากระสอบพลาสติก ผ้าพลาสติก สำหรับใช้ทำโรงเรือน โรงเห็ด ในก่อสร้าง 02-2227624, 0816550604, www.scv-plastic.com